ข้อบังคับของสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตนี้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติของสมาคมการค้าพุทธศักราช 2509 และอยู่ในความควบคุมดูแลของ สำนักงานทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดภูเก็ต

ข้อ 1

ชื่อสมาคม ชื่อสมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ภูเก็ต ทัวริสท์ แอสโซซิเอชั่น” และเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “PHUKET TOURIST ASSOCIATION” โดยใช้ชื่อย่อภาษาไทยว่า “ส.ท.ภ.” และชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “P.T.A.” คำว่า “สมาคม” ที่จะกล่าว ต่อไปให้หมายถึง “สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”

ข้อ 2

สำนักงานของสมาคม

สำนักงานถาวรของสมาคมนี้ ตั้งอยู่เลขที่

100/429 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 (บายพาส)

ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง

จังหวัดภูเก็ต 83000

โทรศัพท์ (076) 610-365-6

โทรสาร (076) 610-367

ข้อ 3

ตราของสมาคม

ตราของสมาคมนี้มีเครื่องหมายเป็นรูปวงกลมซ้อนกัน 2 วง ระหว่างวงกลมทั้งสองมีอักษรภาษาไทยว่า “สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต” อยู่ส่วนบนและมีอักษรภาษาอังกฤษว่า “PHUKET TOURIST ASSOCIATION” อยู่ส่วนล่าง ภายในวงกลมมีรูปคล้ายเกาะภูเก็ตเป็นสีทึบ และมีรูปคล้ายนกสีขาวกำลังบินซ้อนทับอยู่บนรูปเกาะ

ข้อ 4

วัตถุประสงค์ของสมาคม สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง ได้แก่ ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจนำเที่ยวและธุรกิจสินค้าของที่ระลึก และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับการสันทนาการ ในเขตจังหวัดภูเก็ต

(2) สนับสนุนการประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่มีส่วนส่งเสริมกับธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมสัมมนา หรือ ธุรกิจการกีฬาต่างๆ

(3) สนับสนุน ช่วยเหลือ แก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้อง เจรจาทำความตกลงระหว่างสมาชิกหรือสมาชิกกับบุคคลภายนอก สอดส่องติดตามความเคลื่อนไหวการค้า ตามวัตถุประสงค์ทั้งภายในและต่างประเทศ

(4) แลกเปลี่ยน วิจัย เผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร ความคิดเห็น เอกสาร สถิติ

(5) ปรับปรุง ส่งเสริมคุณภาพสินค้า การบริการให้ได้มาตรฐานความนิยมและเพียงพอของตลาด การฝึกอบรม

(6) ร่วมมือกับเจ้าพนักงาน องค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ หรือสมาคมอื่นๆ บรรดาที่เกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์

(7) วางระเบียบภายในขอบเขตของวัตถุประสงค์ให้สมาชิกปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ

(8) พัฒนา แสวงหา แหล่งท่องเที่ยว โฆษณา ชักจูงให้นักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศมาเที่ยว

(9) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จารีตประเพณีท้องถิ่น รักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงาม ตลอดถึงการปรับปรุงส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น

(10) ให้ความสะดวก ช่วยเหลือในด้านการรักษาความปลอดภัย ความเป็นธรรมแก่นักท่องเที่ยว

(11) รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน สิ่งของและหลักทรัพย์ต่างๆ

(12) ให้เงิน ทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือบุคคลภายนอกตอบแทนผลงานที่ผู้นั้นทำให้แก่สมาคมหรือเพื่อ สาธารณะกุศลที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

(13) ไม่ทำการค้าและไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยวิธีใดๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม

ข้อ 5

คุณสมบัติของสมาชิก สมาชิกของสมาคมต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1)มีภูมิลำเนาหรือธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต

(2)ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยตรง ตามหมวดที่ 2 ข้อ 4 (1) ของข้อบังคับนี้ โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้รับใบอนุญาตประกอบการ เช่น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว และใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

(3)แสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก โดยรับรองว่ายอมปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ มติที่ประชุมคณะกรรมการของสมาคม

(4)คณะกรรมการมีมติเห็นชอบรับเข้าเป็นสมาชิกเป็นเอกฉันท์

ข้อ 6

ประเภทของสมาชิก สมาชิกของสมาคม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

(1) สมาชิกสามัญ ได้แก่ นิติบุคคล ที่มีคุณสมบัติตามข้อ 4 (1) ทั้งนี้ให้นิติบุคคลนั้นๆ ตั้งตัวแทน จำนวน 1 คน มาร่วมดำเนินกิจกรรมกับสมาคม

(2) สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดา ห้างร้าน หน่วยงานหรือนิติบุคคล ที่ไม่มีคุณสมบัติ ที่ระบุไว้ ในหมวดที่ 3 ข้อ 5 (2) มีความสนใจยื่นความจำนงสมัครเป็นสมาชิก โดยรับรองยอมปฏิบัติตาม ระเบียบข้อบังคับ และคณะกรรมการบริหารมีมติเห็นชอบรับเข้าเป็นสมาชิก

(3) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์ มีความสนใจในการท่องเที่ยว หรือผู้ มีอุปการะต่อสมาคม หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งคณะกรรมการลง มติเป็นเอกฉันท์ ให้เชิญเข้าเป็นสมาชิก และบุคคลนั้นตอบรับคำเชิญเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ 7

การสมัครเข้าเป็นสมาชิก

(1)ให้ผู้ประสงค์ยื่นใบสมัครตามแบบที่สมาคมกำหนด ต่อเลขานุการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรอง 2 คน

(2)ให้เลขานุการทำแจ้งความการสมัครปิดไว้ในกระดานป้าย ณ สำนักงานสมาคมเป็นเวลา 15 วัน

(3)สมาชิกผู้ใดเห็นว่าไม่ควรรับผู้สมัครเป็นสมาชิก ให้ทำคำคัดค้านยื่นต่อเลขานุการ ภายในกำหนดตามข้อ 7 (2)

(4)เมื่อครบกำหนด 15 วัน ให้เลขานุการนำใบสมัครและคำคัดค้าน (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะ กรรมการ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาประการใด โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวน กรรมการที่เข้าประชุม ให้เลขานุการแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้สมัครทราบภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณา

ข้อ 8

วันเริ่มสมาชิกภาพ

(1)เมื่อผู้สมัครได้ชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร และค่าบำรุงสมาคมประจำปีแรกแล้ว จึงถือว่าผู้สมัครนั้นได้เป็นสมาชิกของสมาคมโดยสมบูรณ์

(2)สมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้ถือว่าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ในเมื่อคณะกรรมการลงมติเชิญและได้ตอบรับการเชิญแล้ว โดยไม่ต้องยื่นใบสมัคร

(3)บรรดาผู้ก่อการตั้งสมาคม ให้ถือว่าเป็นสมาชิกของสมาคมโดยไม่ต้องยื่นใบสมัคร แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการสมัครและค่าบำรุงประจำปี จึงจะถือว่าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์

ข้อ 9

ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนสมาชิกไว้ โดยมีรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พุทธศักราช 2509

ข้อ 10

การขาดจากสมาชิกภาพ

(1)ตาย หรือสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคล

2)ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม และได้ชำระหนี้ที่ค้างชำระต่อสมาคมเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ามีปัญหาให้เหรัญญิกแจ้งให้คณะกรรมการทราบ

(3)ขาดคุณสมบัติตามข้อ 5 (1) , 5 (2) , 5 (3) , หรือ 5 (4) 1 ปี จึงขาดจากสมาชิกภาพ

(4)เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยให้ออก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่มาประชุม ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

  1. เจตนากระทำการใดๆ อันเป็นปรปักษ์หรือนำความเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือกิจการของ สมาคม
  2. เจตนาละเมิดข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งของสมาคม หรือทำผิดมารยาททางการค้าอย่างร้ายแรง
  3. ค้างค่าบำรุงสมาคมเป็นเวลาติดต่อกัน 1 ปี ขึ้นไป หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่สมาชิกร้องขอ หรือยินยอมให้สมาคมทดรองจ่ายให้ก่อน และได้รับหนังสือเตือนให้ชำระหนี้จากสมาคมอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยหนังสือครั้งที่ 2 ได้รับครบ 30 วัน

(5)ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย

(6)ให้นายทะเบียนแจ้งสมาชิกที่ถูกจำหน่ายชื่อออกจากสมาชิกภาพทราบ

ข้อ 11

สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญ

(1)มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมใหญ่ แสดงความคิดเห็นออกเสียงเลือกตั้งกรรมการบริหาร ออกเสียงลงมติตามระเบียบวาระการประชุมใหญ่

(2)มีสิทธิได้รับการพิจารณารับเลือกตั้งหรือรับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร

(3)มีสิทธิเสนอญัตติต่อที่ประชุมสมาชิก หรือต่อคณะกรรมการบริหาร ให้พิจารณาปรับปรุง หรือแก้ไขแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสมาคม โดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 2 คน ในกรณีเสนอต่อคณะกรรมการต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร

(4)มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด เพื่อพิจารณาเรื่องที่ต้องได้รับการปฏิบัติเป็นการด่วน ขอให้เรียกประชุมใหญ่ยื่นต่อเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการต้องพิจารณาเรียกประชุมใหญ่ตามคำเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำเรียกร้อง

(5)มีสิทธิใช้สถานที่ของสมาคม ยกเว้นสถานที่ที่มีระเบียบกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

(6)มีสิทธิขอตรวจทะเบียน เอกสาร บัญชี ทรัพย์สินของสมาคมได้ในเวลาทำงานตามปกติ โดยยื่นต่อเลขานุการ

(7)พึงได้รับประโยชน์ตามฐานะ และสภาพของสมาชิก

(8)มีสิทธิติดต่อ ปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการงานของสมาคมกับกรรมการ แต่ละบุคคลหรือทั้งคณะตามโอกาส

(9)มีสิทธิกรณีเห็นว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการมีแต่จะทำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม อาจออกเสียงลงมติในที่ประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่มาประชุม ให้กรรมการออกจากตำแหน่งได้ทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล ก่อนครบกำหนดออกตามวาระได้

(10)มีสิทธิควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามข้อ 11 (1)

(11)สมาชิกที่เสียค่าบำรุงสมาคมตามข้อ 13 (2) เท่านั้น มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือในการประชุมอื่นๆ ที่สมาคมจัดให้มีขึ้น

(12)สมาชิกที่เสียค่าบำรุงสมาคมตามข้อ 13 (2) เท่านั้น มีสิทธิเข้ารับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็น กรรมการ

(13)มีสิทธิประดับเครื่องหมายหรือติดตราสมาคมไว้หน้าที่ทำการ หรือหัวกระดาษจดหมายของ สมาชิก

(14)มีหน้าที่เคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบของสมาคม มติที่ประชุมใหญ่ มติที่ประชุม คณะกรรมการโดยเคร่งครัด

15)มีหน้าที่รักษาเกียรติและผลประโยชน์ ส่วนได้ส่วนเสียของสมาคม

(16)มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของสมาคมให้เจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าอยู่เสมอ

(17)มีหน้าที่ชำระเงินค่าบำรุงให้แก่สมาคม ตามกำหนดเวลา

(18)มีหน้าที่ให้เกียรติแก่สมาชิกด้วยกัน

(19)หากสมาชิกเปลี่ยนชื่อ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ เปลี่ยนประเภทวิสาหกิจ เลิกประกอบวิสาหกิจ หรือเปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคล จะต้องแจ้งให้เลขานุการสมาคมทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง

ข้อ 12

สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกวิสามัญ

สมาชิกวิสามัญ มีสิทธิและหน้าที่ตามความในข้อ 11 ยกเว้น 11 (2) แต่มีสิทธิได้รับพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร

ข้อ 13

ค่าธรรมเนียมการสมัครและค่าบำรุงประจำปี ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกต้องเสียค่าธรรมเนียมการสมัครและค่าบำรุงประจำปี ดังนี้

(1)ค่าธรรมเนียมการสมัครให้ชำระแก่เหรัญญิก ในวันลงทะเบียนเป็นสมาชิก คือ

  • สมาชิกสามัญ รายละ 3,500 บาท
  • สมาชิกวิสามัญ รายละ 2,000 บาท

(2)ค่าบำรุงประจำปี ให้ชำระแก่เหรัญญิกก่อนเดือนมีนาคมของปีนั้นๆ คือ

  • สมาชิกสามัญ รายละ 3,500 บาท
  • สมาชิกวิสามัญ รายละ 2,000 บาท

(3)สมาชิกเข้าใหม่ไม่ว่าจะเข้าในตอนใดของปี ต้องเสียค่าธรรมเนียมการสมัคร และค่าบำรุงประจำปีเต็มตามกำหนดไว้ หลังจากที่ได้รับหนังสือแจ้งตอบรับจากสมาคม

(4)เงินค่าธรรมเนียมการสมัครและค่าบำรุงประจำปี ที่ชำระให้สมาคมแล้ว จะไม่คืนไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น

(5)สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการสมัคร และค่าบำรุงประจำปี

ข้อ 14

การเข้าดำรงตำแหน่ง ของกรรมการบริหารตำแหน่งต่างๆ ให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้เลือกตั้งกรรมการ จำนวน 11 คน แล้วให้กรรมการที่ได้รับเลือก จำนวน 11 คน พิจารณาสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งนายก สมาคม และให้นายกสมาคมเป็นผู้เลือกอุปนายกสมาคมจำนวนตามความเหมาะสม พร้อมทั้ง พิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่เป็นสมาชิกของสมาคมเข้าเป็นกรรมการบริหารเพิ่มเติม ได้อีกไม่เกิน 8 คน

ข้อ 15

คณะกรรมการของสมาคมอยู่ในตำแหน่งได้วาระละ 2 ปี เว้นแต่นายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งได้ไม่ เกิน 2 วาระติดต่อกัน และให้คณะกรรมการชุดเดิมรักษาการในตำแหน่ง จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่ จะรับมอบงานเสร็จ จึงจะถือว่าพ้นความรับผิดชอบในหน้าที่ ทั้งนี้ให้รับมอบงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

ข้อ 16

การเลือกตั้งกรรมการให้กระทำโดยวิธีให้สมาชิกเสนอชื่อสมาชิกสามัญ ซึ่งตนประสงค์จะให้เข้ารับ เลือกตั้งเป็นกรรมการต่อที่ประชุมใหญ่ โดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 3 ท่าน แล้วให้ที่ประชุมใหญ่ลง มติเลือกตั้ง ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงตามลำดับดำรงตำแหน่งกรรมการและคะแนนที่ได้ต้องเท่าหรือไม่น้อย กว่า 3 คะแนน ถ้ามีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้ายก็ให้ใช้วิธีจับฉลาก

ข้อ 17

การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ในกรณีต่อไปนี้

(1)ตาย

(2)ลาออก

(3)ออกตามวาระที่ได้กำหนดไว้

(4)ขาดคุณสมบัติของสมาชิกหรือขาดจากสมาชิกภาพ

(5)พ้นจากการเป็นผู้แทนของสมาชิกสามัญ

(6)ขาดการประชุมคณะกรรมการสมาคม 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองหรือผู้แทน

(7)ที่ประชุมใหญ่หรือคณะกรรมการมีมติให้ออก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้เข้าประชุม

(8)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออก ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พุทธศักราช 2509

ข้อ 18

กรณีกรรมการออกจากตำแหน่ง โดยไม่ครบตามกำหนดวาระ ให้สมาชิกที่ได้รับคะแนนรองลงไปใน การเลือกตั้งกรรมการชุดที่อยู่ในตำแหน่งเข้าเป็นกรรมการแทนในตำแหน่งที่คณะกรรมการจะพิจารณา เห็นสมควร ให้ผู้ที่มาแทนอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าอายุวาระของผู้ที่ตนแทน ถ้าตำแหน่งนายกสมาคม ว่างลงก่อนกำหนดออกตามวาระ ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ให้คณะกรรมการของสมาคม ทำการเลือกตั้ง นายกสมาคมคนใหม่ จากอุปนายกและให้ผู้ที่มาแทนอยู่ในตำแหน่งนายกเพียงเท่าอายุวาระของผู้ที่ ตนแทน

ข้อ 19

อำนาจหน้าที่กรรมการของสมาคมในตำแหน่งต่างๆ มี

(1)นายก มีหน้าที่ เป็นประธานของคณะกรรมการบริหาร และรับผิดชอบงานทุกอย่างตามวัตถุประสงค์ และระเบียบแบบแผนของสมาคม เป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก

(2)อุปนายก มีหน้าที่ ช่วยเหลือนายกในกิจการทั้งปวงอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม ปฏิบัติงานแทนขณะนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ รับผิดชอบงานที่นายกมอบหมายให้เป็นเอกเทศ

(3)เลขานุการ มีหน้าที่ โต้ตอบหนังสือ เก็บรักษาเอกสารต่างๆ ของสมาคม เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการ และที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่คณะกรรมการมอบหมาย

(4)เหรัญญิก มีหน้าที่ เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หลักฐานการเงิน เก็บเงินจากสมาชิก รับเงินจากผู้บริจาค ดูแลรักษาพัสดุ รายงานฐานะการเงินต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารประจำเดือน และต่อที่ประชุมใหญ่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(5)นายทะเบียนและบรรณารักษ์ มีหน้าที่ เกี่ยวกับทะเบียนประวัติหลักฐานของสมาชิก รักษาเอกสารหนังสือและปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(6)ปฏิคม มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับรองสมาชิก แขก จัดสถานที่ในสำนักงาน จัดที่ประชุม จัดให้มีปาฐกถา สัมมนา เผยแพร่ความรู้ และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(7)ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ สร้างภาพพจน์ที่ดี เผยแพร่ข่าวสารผลงานของสมาคม ชักชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยว และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(8)กรรมการกลาง มีหน้าที่ ช่วยเหลือและประสานงานทั่วไปตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

ข้อ 20

อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ มีดังนี้

(1)การบริหารงานของสมาคมตามวัตถุประสงค์ ระเบียบ แบบแผน ข้อบังคับ และมติที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนมีอำนาจวางระเบียบ วิธีการดำเนินงานของสมาคม รวมทั้งการตั้งอนุกรรมการสาขา ต่างๆ เพื่อทำกิจการเฉพาะอย่างในขอบเขตหน้าที่ของสมาคม ภายใต้การควบคุมของคณะ กรรมการและกฎหมายไม่น้อยกว่าคณะละ 5 คน ซึ่งจะเป็นสมาชิก หรือจะเชิญบุคคลภายนอกที่มี ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ในเรื่องที่จะมอบให้ทำ และเป็นผู้สมัครใจจะทำงาน มาร่วม ด้วยก็ได้ และอยู่ในตำแหน่งได้ เท่าที่มีความจำเป็นแก่การทำงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ไม่เกินอายุ วาระของคณะกรรมการชุดที่แต่งตั้ง

(2)ประชุมปรึกษางานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

(3)ทำรายงานผลการปฏิบัติงาน งบดุลรายรับรายจ่าย ตลอดถึงความคิดเห็นปรับปรุงในรอบปีเสนอต่อที่ประชุมใหญ่

(4)เรียกประชุมใหญ่ประจำปีในเดือนกรกฎาคม

(5)เข้าประชุม แสดงความคิดเห็น ชี้แจง ตอบคำถามเกี่ยวกับกิจการงานในหน้าที่

(6)กรณีที่ข้อบังคับไม่ได้บัญญัติไว้ ถ้าไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและไม่เป็นการกระทำที่ผิดข้อบังคับของสมาคมและกฎหมาย ให้คณะกรรมการปรึกษากันทำงานนั้นๆ ไปก่อนได้ แล้วรีบเรียกประชุมใหญ่วิสามัญพิจารณาและให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมใหญ่ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการกระทำที่คณะกรรมการได้ปฏิบัติไปก่อนแล้ว

(7)มีอำนาจว่าจ้าง แต่งตั้ง ถอดถอนและกำหนดอัตราค่าจ้างเจ้าหน้าที่ เพื่องานของสมาคมได้ ตามสมควร

ข้อ 21

การประชุม หมายถึง การประชุมใหญ่ และการประชุมคณะกรรมการสมาคม

ข้อ 22

การประชุมใหญ่ ให้หมายถึง การประชุมสมาชิกของสมาคม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

(ก) การประชุมใหญ่สามัญประจำปี คือ การประชุมใหญ่ที่จะต้องมีขึ้นภายในเดือนกรกฏาคม ของทุกๆ ปี

(ข) การประชุมใหญ่วิสามัญ คือ การประชุมใหญ่ครั้งอื่นๆ บรรดามี นอกเหนือจากการประชุมใหญ่ สามัญประจำปีแล้ว ซึ่งคณะกรรมการอาจจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่เห็นสมควรหรือเมื่อ ได้รับคำร้องขอจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คน เมื่อได้รับคำร้องขอ ขอให้คณะกรรมการเรียกประชุม ใหญ่วิสามัญภายใน 15 วัน หลังจากที่ได้รับคำร้องขอ ถ้าหากคณะกรรมการไม่เรียกประชุมใหญ่ วิสามัญ สมาชิกที่ร้องขอไม่น้อยกว่า 1/3 ของสมาชิกทั้งหมด อาจจะเรียกประชุมเองได้ และให้มีการ ประชุมภายใน 15 วัน หลังจากวันที่ได้ยื่นคำร้องขอแล้ว

(1)ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดวัน เวลา สถานที่ ระเบียบวาระการประชุมใหญ่ และมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันประชุม

(2)ต้องมีสมาชิกมาประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 1/3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้เรียกประชุมใหญ่เป็นครั้งที่ 2 หลังจากการประชุมใหญ่ครั้งแรก 7-15 วัน ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 นี้ สมาชิกมาประชุมมากน้อยเท่าใดนับเป็นองค์ประชุมได้

(3)การประชุมใหญ่เป็นการประชุมเปิดเผย แต่ถ้าสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1/10 ของสมาชิกทั้งหมด หรือคณะกรรมการร้องขอ ก็ให้เป็นการประชุมลับ ซึ่งสมาชิกเท่านั้นที่จะเข้าร่วมประชุมได้

(4)ญัตติที่เสนอให้ที่ประชุมใหญ่ โดยสมาชิกรับรอง 2 คน ถ้าคณะกรรมการเป็นผู้เสนอ ไม่ต้องมีผู้รับรอง

(5)ให้ถือเสียงข้างมากเป็นมติที่ประชุมใหญ่ โดยสมาชิกหนึ่งคน มีสิทธิลงคะแนนได้ 1 เสียง สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่มีสิทธิลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

(6)ให้นายกเป็นประธานของที่ประชุม ถ้านายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ให้ผู้อยู่ในตำแหน่งตามข้อ 19 ตามลำดับเลข เว้นแต่เลขานุการเป็นประธานแทน

(7)กิจการอันพึงกระทำในที่ประชุมใหญ่ คือ รับรองรายงานการประชุมใหญ่ครั้งก่อน รายงานผลการปฏิบัติงานในรอบปี งบดุลรายรับจ่าย เลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี กำหนดค่าตอบแทน ให้ผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี (ควรกำหนดระยะเวลา เช่นเดียวกับคณะกรรมการ) เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)

(8)กิจการอันพึงกระทำในที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ได้แก่ กิจการที่จะกระทำโดยอาศัยมติจากที่ประชุม แต่ไม่อาจหรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถจัดทำได้ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี

ข้อ 23

การประชุมคณะกรรมการสมาคม จะต้องปฏิบัติดังนี้

(1)ให้นายกหรืออุปนายก เป็นประธานของที่ประชุม ถ้านายกหรืออุปนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการตั้งแต่ลำดับเลขข้อ 19 (4) ลงไปเป็นประธานของที่ประชุมแทนตามลำดับ

(2)ให้ถือเสียงข้างมากเป็นมติที่ประชุม กรรมการคนหนึ่งมี 1 คะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานของที่ประชุมชี้ชาด

(3)มติของที่ประชุม หรือมติของที่ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทั่วๆ ไป ให้จัดทำเป็นหนังสือและมีรายชื่อกรรมการ โดยมีนายกเป็นผู้ลงนาม เพื่อได้ประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลา 15 วัน แล้วจึงใช้บังคับได้

(4)ในการประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะเป็นองค์ประชุม

ข้อ 24

ในการประชุมคณะกรรมการ อนุกรรมการ ตลอดจนการประชุมใหญ่ ให้บันทึกรายงานการประชุมไว้ ทุกครั้ง และให้นำเสนอที่ประชุมเพื่อรับรองในการประชุมครั้งต่อไป

ข้อ 25

ให้คณะกรรมการจัดให้มีบัญชีการเงินของสมาคม พร้อมด้วยใบสำคัญและหลักฐานให้ถูกต้องตาม หลักวิชาการบัญชี และให้ตรงต่อความเป็นจริงเสมอ และให้เหรัญญิกของสมาคมเป็นผู้เก็บรักษาไว้

ข้อ 26

ให้ถือวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 มีนาคมของปี เป็นรอบปีการเงิน เมื่อสิ้นปีให้คณะกรรมการจัดทำงบดุล รายรับรายจ่ายของสมาคม ส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีภายในวันที่ 15 พฤษภาคม ให้ผู้ตรวจบัญชีทำการ ตรวจและรับรองให้เสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน และให้คณะกรรมการนำเสนอที่ประชุมใหญ่ภายใน เดือนกรกฎาคมของปีใหม่

ข้อ 27

การรับเงินต้องออกใบรับเงินและต้องมีต้นขั้วไว้ด้วย การจ่ายเงินต้องมีใบรับเงิน ถ้าเป็นการจ่ายราย ย่อยไม่เกินราย 100 บาท ผู้จ่ายเงินจะทำหนังสือรับรองการจ่ายเงินนั้นเองก็ได้

ข้อ 28

ให้เหรัญญิก รักษาเงินสดไว้เพื่อทดรองจ่ายไม่เกิน 1,000 บาท เงินที่เหลือให้นำฝากธนาคารพาณิชย์ ที่ ประชุมใหญ่เห็นชอบในนามของสมาคม

ข้อ 29

ให้นายก อุปนายก หรือเหรัญญิก จำนวน 2 คน มีอำนาจจ่ายเงินครั้งหนึ่งไม่เกิน 10,000 บาท ถ้าเกิน ต้องได้รับอนุญาตจากที่ประชุมคณะกรรมการก่อนจึงจะจ่ายได้

ข้อ 30

คณะกรรมการมีอำนาจจ่ายเงินครั้งหนึ่งไม่เกิน 100,000 บาท ถ้าเกินกว่านี้ ต้องได้รับความเห็นชอบ จากที่ประชุมสมาชิก

ข้อ 31

ความรับผิดชอบของสมาชิก จำกัดอยู่เพียงจำนวนเงินค่าบำรุงประจำปี หรือหนี้สินที่สมาชิกผู้นั้นยัง ค้างชำระอยู่

ข้อ 32

ข้อบังคับนี้อาจจะแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมหรือตัดทอนได้ โดยมติที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่า 2/3 ของสมาชิกที่มาประชุม

ข้อ 33

คณะกรรมการจะต้องส่งคำบอกกล่าวให้สมาชิกทราบ โดยส่งให้กับตัวหรือทางไปรษณีย์ ตามตำบลที่ อยู่ที่ปรากฏในทะเบียนของสมาคม

ข้อ 34

คำบอกกล่าวใดๆ ที่ได้ส่งทางไปรษณีย์ให้ถือว่าได้บอกกล่าวแล้ว ในวันถัดจากวันที่ได้ส่งซองจดหมาย หรือกระดาษห่อข้อความดังกล่าวไปทางไปรษณีย์ และในการพิสูจน์จากหลักฐานการส่งที่ทางรัฐบาล ออกให้

ข้อ 35

สมาชิกคนใดที่ละเลยไม่ได้ให้ที่อยู่ของตน เพื่อขึ้นทะเบียนไว้ จะไม่มีสิทธิได้รับคำบอกกล่าวจาก สมาคม

ข้อ 36

คำบอกกล่าวที่ได้ติดประกาศไว้ที่สำนักงานของสมาคมเป็นเวลา 7 วันแล้ว ให้ถือว่าได้ส่งถึงสมาชิกที่ ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยแล้ว

ข้อ 37

สมาคมอาจเลิกได้ด้วยเหตุต่อไปนี้

(1)ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2/3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

(2)ล้มละลาย

(3)ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พุทธศักราช 2509

ข้อ 38

เมื่อสมาคมต้องเลิก ให้ผู้ตรวจบัญชีทำการชำระบัญชีตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พุทธศักราช 2509 มาตรา 39 ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 2 เดือน ให้คณะกรรมการคงต้องรับผิดชอบในกิจการงานของสมาคมต่อไป จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ หากมีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใด ให้ตกเป็นขององค์การกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง ซึ่งเป็นนิติ บุคคลในราชอาณาจักรไทย ตามมติของที่ประชุมใหญ่ ด้วยคะแนนเสียง 2/3 ของผู้เข้าประชุม

ข้อ 39

(1) เมื่อข้อบังคับของสมาคม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2530 ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่แล้ว ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ที่ประชุมใหญ่ให้การรับรอง

(2) ให้สมาชิกเก่ามีสิทธิเปลี่ยนแปลงประเภทสมาชิก ตามข้อบังคับสมาคมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2530 ข้อ 6 โดยยื่นความจำนงต่อนายทะเบียนภายในเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ข้อบังคับมีผลใช้ บังคับ

(3) หากสมาชิกเก่าไม่แสดงความจำนงที่จะเปลี่ยนแปลงประเภทสมาชิก คณะกรรมการจะจัดประเภท สมาชิกใหม่ตามข้อบังคับ หมวดที่ 3 ข้อ 6 และจะต้องแจ้งให้สมาชิกนั้นทราบถึงการเปลี่ยนแปลง โดยให้สมาชิกมีสิทธิอุทธรณ์ภายในเวลา 15 วัน หลังจากได้รับหนังสือแจ้ง

(4)จำนวนและสถานภาพกรรมการรับเลือกตั้งในปัจจุบัน ให้คงไว้เหมือนเดิมจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป